เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
นักศึกษาสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

2. มีทฤษฎีอะไรบ้างที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ และแต่ละทฤษฎีเป็นอย่างไร

ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความสุข


ประเวศ วะสี (2541:27) ได้กล่าวถึงปัญหาการศึกษาไทยประการหนึ่ง คือการเรียนเป็นความทุกข์เพราะการเรียนยาก ไม่สนุก น่าเบื่อ ทำให้คนเกลียดการศึกษา นำไปสู่ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นครูควรทำให้การเรียนรู้เป็นความสุข สนุก ชวนให้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

กิติยวดี บุญซื่อ (2540:32-84) กล่าวว่าทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความสุขเป็นวิธีเรียนแบบใหม่ที่ทำให้ผู้เรียนเรียนอย่างสนุกสนาน ผู้เรียนมาเรียนด้วยความตื่นเต้น และมุ่งมั่น ทฤษฎีนี้กล่าวถึงการเรียนที่มีความสุขว่ามีองค์ประกอบอยู่ 6 ประการ ได้แก่

1. เด็กแต่ละคนได้รับการยอมรับว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีหัวใจและสมองมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

2. ครูให้ความเมตตา จริงใจ และอ่อนโยนต่อเด็กทุกคนโดยทั่วถึง ครูเอาใจใส่เท่าเทียมกัน มีความยุติธรรม

3. เด็กเกิดความรัก และภูมิใจในตนเอง รู้จักปรับตัวได้ทุกที่ทุกเวลาเห็นคุณค่าของชีวิตและความเป็นมนุษย์ของตน

4. เด็กแต่ละคนมีโอกาสเรียนตามความถนัดและความสนใจ

5. บทเรียนสนุก แปลกใหม่ จูงใจให้ติดตามและเร้าใจ อยากค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองในสิ่งที่สนใจ

6. สิ่งที่เรียนรู้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เกิดประโยชน์และมีความหมายต่อตัวเขา

การจัดการเรียนการสอนที่ทำให้การเรียนรู้ดำเนินไปอย่างราบรื่น เกิดความสุขร่วมกันทั้งผู้เรียนผู้สอนควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. บทเรียนเริ่มจากง่ายไปยากโดยคำนึงถึงวุฒิภาวะและความสามารถของผู้เรียนแต่ละวัย

2. วิธีเรียนสนุก ไม่น่าเบื่อและตอบสนองความสนใจใคร่รู้ของผู้เรียน

3. ทุกขั้นตอนของการเรียนรู้มุ่งพัฒนาและส่งเสริมกระบวนการคิดในแนวต่างๆ รวมทั้งความคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์

4. มีกิจกรรมหลากหลาย สนุก ชวนให้ผู้เรียนสนใจเรียน

5. แนวการเรียนรู้สัมพันธ์และสอดคล้องธรรมชาติ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสัมผัสสิ่งรอบตัว

6. สื่อที่ใช้ประกอบการเรียน เร้าให้เกิดการเรียนรู้ เข้าใจตรงตามเป้าหมาย

7. การประเมินผล เน้นพัฒนาของผู้เรียนในภาพรวมมากกว่าผลเรียนทางวิชาการ

ทฤษฎีการเรียนรู้แบบมีส่วนรวม

สุมณฑา พรหมบุญ (2540:1-74) ทฤษฎีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเป็นทฤษฎีที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางด้านจิตใจ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง ได้รับการฝึกฝนทักษะต่างๆการแสวงหาความรู้ การคิด การจัดการความรู้

กระบวนการเรียนรู้ตัวอย่างที่นำมาเสนอมี 3 วิธี คือ

1. กระบวนการกลุ่ม(Grop process) เป็นกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มผู้เรียนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมีปฏิสัมพันธ์กัน

กิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้กระบวนการกลุ่มได้แก่ เกม บทบาทสมมติ

บทบาทของครูในการสอน มีดังนี้

- มีความเป็นกันเอง เห็นอกเห็นใจผู้เรียน

- พูดน้อย เป็นเพียงผู้ประสานงาน ไม่ชี้นำหรือโน้มน้าวความคิดของผู้อื่น

- ให้กำลังใจ กระตุ้นให้ทำงานและแสดงออก

- สนับสนุนให้คิดวิเคราะห์ สรุปผล และประเมินผลการเรียนรู้

บทบาทของผู้เรียนมีดังนี้

- ลงมือทำกิจกรรม ทำความเข้าใจงานที่ทำ

- ช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

- รับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ของตน

2. การเรียนรู้แบบร่วมแรงร่วมใจ ( Cooperative learning ) เป็นวิธีเรียนที่จัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม สมาชิกแต่ละคนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ความสำเร็จของกลุ่ม

หลักการของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม แรงร่วมใจคล้ายกับกระบวนการกลุ่ม แต่ต่างกันตรงที่การเรียนรู้แบบร่วมแรงร่วมใจจัดกลุ่มผู้เรียนให้คละกันด้านความรู้ความสามารถ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแต่ละคนนำศักยภาพของตนมาเสริมสร้างความสำเร็จของกลุ่ม เทคนิคการจัดกิจกรรมการร่วมแรงร่วมใจ ได้แก่ การเล่าเรื่องรอบวง มุมสนทนา คู่ตรวจสอบ คู่คิด เป็นต้น

3. การเรียนรู้แบบสรรค์สร้างความรู้ ( Constructivism ) เป็นวิธีเรียนที่ผู้เรียนต้องแสวงหาความรู้และสร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง

บทบาทของครู คือ เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนสรรค์สร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมี 5 ขั้นตอน ดังนี้

- ปฐมนิเทศให้ผู้เรียนสร้างจุดมุ่งหมายและแรงจูงใจในการทำงาน

- ทำความเข้าใจ ให้ผู้เรียนทำความเข้าใจบทเรียน

- จัดโครงสร้างแนวคิดใหม่ ให้ผู้เรียนนำเสนอแนวคิดให้กระจ่าง

- นำแนวความคิดไปใช้ ให้ผู้เรียนนำแนวความคิดไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ

- ทบทวน ให้ผู้เรียนสะท้อนตนเองโดยเปรียบเทียบแนวความคิดของตน

ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด

ทิศนา แขมมณี (2540:11-236) ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด แบ่งเป็น 3 กลุ่มได้แก่

กลุ่มที่ 1 เป็นคำที่แสดงถึงพฤติกรรม คำในกลุ่มนี้เรียกว่า ทักษะความคิด มี 2 ระดับ

1.1 ทักษะการคิดพื้นฐาน

- ทักษะการสื่อความหมาย ได้แก่ การฟัง การจำ การอ่าน การรับรู้

- ทักษะแกน ได้แก่ การสังเกต การสำรวจ การตั้งคำถาม การตีความ การเชื่อมโยงความรู้

1.2 ทักษะการคิดขั้นสูง ได้แก่ การนิยาม การผสมผสาน การสร้าง การวิเคราะห์

กลุ่มที่ 2 เป็นคำแสดงลักษณะของการคิด ซึ่งไม่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน คำกลุ่มนี้เรียกว่าลักษณะการคิด เช่น คิดคล่อง คิดละเอียด

กลุ่มที่ 3 เป็นคำที่แสดงถึงการดำเนินกิจกรรมการคิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอน คำกลุ่มนี้ เรียกว่า กระบวนการคิด

ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัย ดนตรี กีฬา

สุกรี เจริญสุข (2540:12-23) ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัย ดนตรี กีฬา

เป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอน วิชา ศิลปะ ดนตรี และพลศึกษาแก่ครู

การเรียนรู้ศิลปะ ดนตรี และพลศึกษาเป็นการพัฒนาผู้เรียนให้สมบูรณ์ทุกด้าน ได้แก่

1. ด้านร่างกาย มีสุขภาพที่สมบูรณ์

2. ด้านจิตใจ และอารมณ์ มีจิตใจที่ร่าเริงแจ่มใส

3. ด้านสติปัญญา มีทักษะทางศิลปะ ทักษะในการเล่นดนตรี

4. ด้านสังคม มีน้ำใจนักกีฬา

5. ด้านจริยธรรม ประพฤติดี

ดนตรีเป็นเรื่องของความไพเราะ ศิลปะเป็นเรื่องของความงาม กีฬาเป็นศิลปะของการเคลื่อนไหว

จะเห็นได้ว่าทั้งสามวิชานี้ มีธรรมชาติที่เหมือนกัน จึงมีทฤษฎีการเรียนรู้ 3 ส่วนร่วมกันคือ

- ทฤษฎีความเหมือน

- ทฤษฎีความแตกต่าง

- ทฤษฎีความเป็นฉัน

ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัยการฝึกฝนกาย วาจา ใจ

อำไพ สุจริตกุล (2540:132-137) ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัยการฝึกฝนกาย วาจา ใจ เป้าหมายของการพัฒนาสังคมไทยคือ การสร้างความสมดุลระหว่างความมั่งคั่งทางวัตถุ ความเจริญงอกงามทางจิตใจ และความอาทรต่อธรรมชาติเพื่อให้คนมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น สังคมสันติ

ลักษณะนิสัยเด็กไทยที่ต้องพัฒนามีดังต่อไปนี้

1. การมีมารยาทและวิถีแห่งการปฏิบัติทางกาย วาจา ใจ ขั้นพื้นฐาน

2. ความมีสติ สัมปชัญญะ เพื่อครองตน ไม่ถลำไปสู่ความชั่ว

3. ความมีคุณธรรมที่สำคัญ ได้แก่

ความมีวินัย รู้ค่าแห่งการมีระเบียบ

ความกล้าหาญ กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ความกตัญญู รู้คุณบรรพชน รู้คุณคน

ความมีเมตตา รู้จักให้

ความอดทน สู้งาน มีความมุ่งมั่นใฝ่สำเร็จ

ความเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว

ความสามัคคี ประนีประนอม รักสันติ

ความขยันหมั่นเพียร ไม่หวังแต่จะหาทางลัดในชีวิตการงาน

ความเป็นตัวของตัวเอง มั่นใจในตนเอง

ความสันโดษรู้จักพอ ไม่ดิ้นรน แสวงหาจนลืมความเป็นมนุษย์

ความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เป็นคนวางก้าม

4. ความรักในเพื่อมนุษย์

5. ความรักในธรรมชาติ

สรุปได้ว่า ทฤษฎีการเรียนรู้ทั้ง 5 ทฤษฎีนี้นับได้ว่าเป็นแนวทางสำหรับครูนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพได้ เพราะแต่ละทฤษฎีครูผู้สอนสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อให้เห็นความเจริญงอกงามของผู้เรียนได้ สำหรับทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความสุข เป็นทฤษฎีที่เน้นให้ผู้เรียนเรียนอย่างสนุกสนาน มีความตื่นเต้นในการเรียน ทฤษฎีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เป็นทฤษฎีที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางด้านจิตใจช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่สัมผัสชีวิตจริง ได้รับทักษะต่างๆ ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด เป็นทฤษฎีที่พัฒนาทักษะความคิดซึ่งมีอยู่ 2 ระดับ คือ ทักษะการคิดพื้นฐาน ก็จะเป็นพวกการฟัง การจำ การอ่าน การรับรู้ และอีกหนึ่งทักษะคือ ทักษะการคิดขั้นสูง ได้แก่ การสร้าง การวิเคราะห์ และอีกทฤษฎีหนึ่งก็คือ ทฤษฎีการกเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัย การฝึกฝน กาย วาจา ใจ ทฤษฎีนี้เป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาสังคมไทย คือ การสร้างความสมดุลระหว่างความมั่งคั่งทางวัตถุ ความเจริญงอกงามทางด้านจิตใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น